บุญบั้งไฟอำเภอกุดชุมอำเภอกุดชุม
ประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกุดชุม
ปี 2557
วันที่ 7 มิถุนายน 2557
แอดมินได้มีโอกาสบันทึกภาพแห่งความประทับใจ
...ม่วนซื่นโฮแซว : บรรยากาศ...ประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกุดชุม ปี 2557
สนุกสนาน
ประทับใจ ท่ามกลางเปลวแดด
ประเพณีบุญบั้งไฟอำเภอกุดชุม
ปี 2557
ประเพณีบุญบั้งไฟ
เป็นหนึ่งในฮีตสิบสองเดือนของชาวอีสาน นิยมทำกันในเดือน 6 หรือเดือน 7
อันเป็นช่วงฤดูฝนเข้าสู่การทำนา ตกกล้า หว่าน ไถ
เพื่อเป็นการบูชาเทพยดาอารักษ์หลักบ้านหลักเมืองและบูชาพญาแถนขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล
โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล
ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
ความหมายของบั้งไฟ
คำว่า "บั้งไฟ"
ในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า "บ้องไฟ" แต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่า
"บั้งไฟ" โดยทั้ง 2 คำมีความแตกต่างกันดังนี้
คำว่า บ้อง หมายถึง สิ่งของใด
ๆ ก็ได้ที่มี 2 ชิ้น มาสวมหรือประกอบเข้ากันได้ ส่วนนอกเรียกว่า บ้อง
ส่วนในหรือสิ่งที่เอาไปสอดใส่จะเป็นสิ่งใดก็ได้ เช่น บ้องมีด บ้องขวาน บ้องเสียม
บ้องวัว บ้องควาย ดังนั้น คำว่า บั้งไฟ ในภาษาถิ่นอีสานจึงเรียกว่า บั้งไฟ
ซึ่งหมายถึงดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง
มีหางยาวเอาดินประสิวมาคั่วกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า หมื่อ
(ดินปืน) และเอาหมื่อนั้นใส่กระบอกไม้ไผ่ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ เอาไผ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื่อโดยรอบ
เอาไม้ไผ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาว สำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน
เรียกว่า "บั้งไฟ"
ส่วนคำว่า บั้งไฟ
คือการนำเอากระบอกไม้ไผ่ เลาเหล็ก ท่อเอสลอน
หรือเลาไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุหมื่อ (ดินปืน) ตามอัตราส่วนที่ช่างกำหนดไว้แล้วประกอบท่อนหัวและท่อนหางเป็นรูปต่าง
ๆ ตามที่ต้องการ เพื่อนำไปจุดพุ่งขึ้นสู่อากาศ จะมีควันและเสียงดัง
บั้งไฟมีหลายประเภท ตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย
ประวัติความเป็นมาประเพณีบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีหนึ่งของภาคอีสานของไทยรวมไปถึงลาว
โดยมีตำนานมาจากมาจากนิทานพื้นบ้านของภาคอีสานเรื่องพระยาคันคาก เรื่องผาแดงนางไอ่
ซึ่งในนิทางพื้นบ้านดังกล่าวได้กล่าวถึงการที่ชาวบ้านได้จัดงานบุญบั้งไฟขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระยาแถน
หรือเทพวัสสกาลเทพบุตร ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อว่า
พระยาแถนมีหน้าที่คอยดูแลให้ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล และมีความชื่นชอบไฟเป็นอย่างมาก
หากหมู่บ้านใดไม่จัดทำการจัดงานบุญบั้งไฟบูชา ฝนก็จะไม่ตกถูกต้องตามฤดูกาล
อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติกับหมู่บ้านได้
ตำนานเรื่อง
พญาคันคากกับพญาแถน
ตามตำนานพญาแถน
เทพผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ผู้ดลบันดาลให้ฝนตก
เกิดไม่พอใจชาวโลกจึงบันดาลให้ฝนไม่ตกเลยตลอด 7 ปี 7 เดือน 7 วัน
ชาวเมืองทนไม่ไหวจึงคิดทำสงครามกับพญาแถน แต่สู้พญาแถนกับกองทัพเทวดาไม่ได้
ถูกไล่ล่าหนีมาถึงต้นไม้ใหญ่ที่พระโพธิสัตว์เสวยชาติเป็นพญาคันคาก (คางคก)
อาศัยอยู่ และพญาคันคากตกลงใจเป็นจอมทัพของชาวโลกต่อสู้กับพญาแถน
พญาคันคากให้พญาปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงสวรรค์
ให้พญามอดไม้ไปทำลายด้ามอาวุธของทหารและอาวุธพญาแถน และให้พญาผึ้ง ต่อ
แตนไปต่อยทหารและพญาแถนฝ่ายเทวดาพ่ายแพ้ พญาแถนจึงให้คำมั่นว่า
หากมนุษย์ยิงบั้งไฟขึ้นไปเตือนเมื่อไรจะรีบบันดาลให้ฝนตกลงมาให้ทันทีและถ้ากบเขียดร้องก็ถือเป็นสัญญาณว่าฝนได้ตกลงถึงพื้นแล้ว
และเมื่อใดที่ชาวเมืองเล่นว่าวก็เป็นสัญญาณแห่งการหมดสิ้นฤดูฝน
ตำนานเรื่องท้าวผาแดงนางไอ่
นางไอ่เป็นธิดาพระยาขอมผู้ครองเมืองชะธีตา
นางไอ่เป็นสตรีที่มีสิริโฉมงดงามเป็นที่เลื่องลือไปในนครต่าง ๆ
ทั้งโลกมนุษย์และบาดาล มีชายหนุ่มหมายปองจะได้อภิเษกกับนางมากมาย
ในจำนวนผู้ที่มาหลงรักนางไอ่ มีท้าวผาแดงและท้าวพังคี โอรสสุทโธนาค
เจ้าผู้ครองนครบาดาล ท้าวทั้งสองต่างเคยมีความผูกพันกับนางไอ่มาแต่อดีตชาติ
จึงต่างช่วงชิงจะได้เคียงคู่กับนาง แต่ก็พลาดหวัง
จึงมิได้อภิเษกทั้งคู่เพราะแข่งขันบั้งไฟแพ้
ท้าวพังคีนาคไม่ยอมลดละ
แปลงกายเป็นกระรอกเผือกคอยติดตามนางไอ่ สุดท้ายถูกฆ่าตาย
พญานาคผู้เป็นพ่อจึงขึ้นมาถล่มเมืองล่มไป กลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหาน
หนองหานในตำนานท้าวผาแดงนางไอ่ ที่เป็นที่ถกเถียงกันว่าที่ไหนกันแน่ มีอยู่ถึง 3
ที่ ได้แก่ หนองหาน ที่ อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และหนองหาน อำเภอกุมภวาปี
ซึ่งก็ไม่ไกลจากที่แรกมากนัก และอีกที่หนึ่งก็คือหนองหาร จังหวัดสกลนคร
ในตำราอ้างอิงถึงเรื่องผาแดงนางไอ่จบลงด้วยการเกิดเป็นหนองน้ำ
ขนาดใหญ่จากการต่อสู้ของพญานาคกับท้าวผาแดง ต่างก็มีข้อมูลอ้างอิงถึง
หนองน้ำที่ชื่อหนองหาน แต่กล่าวต่างกันไปในตำราแต่ละเล่มถึงหนองน้ำ ทั้ง 3 แห่ง
ประเพณีบุญบั้งไฟ
ความเชื่อของชาวบ้านกับประเพณีบุญบั้งไฟ
ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์ โลกเทวดา
และโลกเทวดา มนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา
การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา และเรียกเทวดาว่า
"แถน" เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า ฝน ฟ้า ลม เป็นอิทธิพลของแถน
หากทำให้แถนโปรดปราน มนุษย์ก็จะมีความสุข ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน
การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน
ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน
และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน
การจัดประเพณีบุญบั้งไฟ
ก่อนจะถึงวันงานหรือวันเอาบุญ
ชาวบ้านก็จะช่วยกันเตรียมงานกันอย่างสามัคคี ชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายจะสร้างปะรำ
หรือ "ผาม" หรือ "ตูบบุญ ฝ่ายแม่ครัวก็เตรียมข้าวปลาอาหารไว้เลี้ยงแขกเลี้ยงคน
ฝ่ายช่างฟ้อนก็เตรียมขบวนรำไว้สำหรับแห่บั้งไฟ ฝ่ายผู้ชายที่เป็นช่างฝีมือก็ช่วยกันทำบั้งไฟและตกแต่งให้สวยงาม
งานบุญบั้งไฟส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีพิธีกรรมทางศาสนาเท่าใดนักแต่บางแห่งก็มีพิธีทำบุญเลี้ยงพระบ้าง
วันโฮม
เป็นชาวบ้านก็จะมาตั้งขบวนเพื่อแห่บั้งไฟไปรอบ ๆ หมู่บ้าน
เป็นงานบุญที่เน้นความสนุกสนานรื่นเริง ในขบวนจะมีการรำเซิ้งตามบั้งไฟ
และบรรดาขี้เหล้าทั้งหลายก็จะร้องเพลงเซิ้งไปของเหล้าตามบ้านต่าง ๆ
กาพย์เซิ้งอาจจะหยาบคายแต่ก็ไม่มีใครถือสากัน
แต่กาพย์เซิ้งที่ใช้แห่ในขบวนมักจะเป็นประวัติและความเป็นมาของพิธีบุญบั้งไฟ
วันจุดบั้งไฟก็อาจจะเป็นอีกวันหนึ่งคือเป็นวันที่ชาวบ้านจะเอาบั้งไฟของแต่ละคุ้มแต่ละหมู่บ้านมาจุดแข่งกัน
ถ้าของใครทำมาดีจุดขึ้นได้สูงสุดก็จะชนะแต่ถ้าของใครแตกหรือซุก็ถือว่าแพ้
ต้องโดนลงโทษโดยการจับโยนลงโคลนหรือตมซึ่งเป็นที่สนุกสนานอย่างยิ่ง
การจุดบั้งไฟเป็นการเสี่ยงทาย ถ้าบั้งไฟขึ้นสูง ก็ทำนายว่าฝนจะตกดี
ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์
ประเภทของบั้งไฟ
ประเภทของบั้งไฟ บั้งไฟมี 2 ประเภท
ประเภทที่ 1 ได้แก่ บั้งไฟที่ไม่มีหาง
เช่นบั้งไฟพุ บั้งไฟพะเนียง บั้งไฟตะไล บั้งไฟดอกไม้ บั้งไฟโครงขาว บั้งไฟม้า
ประเภทที่ 2 ได้แก่ บั้งไฟที่มีหาง
ซึ่งแบ่งเป็น 4 หมวดหมู่ ดังนี้
1. บั้งไฟน้อย
เป็นบั้งไฟที่มีขนาดเล็กบั้งไฟชนิดนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเสี่ยงทายดูว่าฝนจะตกต้องตาม
ฤดูกาลหรือไม่
ถ้าหากว่าบั้งไฟถูกยิงขึ้นไปสูงสุดหมายถึงฝนจะดี
2. บั้งไฟร้อย เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนน้อยกว่า
12 กิโลกรัม ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อการแข่งขัน
3. บั้งไฟหมื่น เป็นบั้งไฟที่บรรจุดินปืนระหว่าง
12 119 กิโลกรัม
4. บั้งไฟแสน
เป็นบั้งไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดซึ่งบรรจุดินปืน 120 กิโลกรัมการแห่บั้งไฟ
นอกจากนี้
สามารถแบ่งประเภทของบั้งไฟได้เป็นแบบต่าง ๆ ดังนี้
1. บั้งไฟโหวด
บั้งไฟโบดหรือโหวดเป็นบั้งไฟขนาดเล็กตัวกระบอกจะยาวขึ้น
ประมาณ 4-10 นิ้ว บรรจุหมื่อหนักประมาณ 1 ส่วน 8 ถึง 1 ส่วน 2 กิโลกรัม
ใช้หางยาวประมาณ 1-4 เมตร มีกระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ มัดวางรอบตัวบั้งไฟ
นิยมทำประกอบกันในบั้งไฟใหญ่ (บั้งไฟหมื่น, บั้งไฟแสน) ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมทำ
เพราะไม่มีช่าง
2. บั้งไฟม้า
บั้งไฟชนิดนี้เป็นบั้งไฟขนาดเล็กจุดไปตามทิศทางที่กำหนดใช้เส้นลวดเป็นวิถีตรึงไปยังเป้าหมายที่ต้องการ
ลักษณะทั่วไปเป็นบั้งไฟที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่ 1 ปล้อง ขนาดแล้วแต่ต้องการ
โดยทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว ยาวประมาณ 1 ฟุตทางภาคกลางและภาคอีสานเรียกว่า
ลูกหนู คล้ายม้าที่กำลังวิ่ง ถ้าติดรูปอะไรก็เรียกชื่อไปตามนั้น
เป็นคนขี่ม้า รูปวัว แล้วแต่จะทำรูปอะไร บางครั้งภาคเหนือเรียกว่า บอกไฟยิง
3. บั้งไฟช้าง
บั้งไฟชนิดนี้ไม่มีหาง
มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่ากระโพกหรือตะโพก เวลาจุดไม่ต้องการให้พุ่งขึ้นไปแต่ต้องการมีเสียงร้องคล้ายกับช้างร้อง
วิธีทำบั้งไฟให้ใช้กระบอกไม้ไผ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดยาวเพียงป้องเดียวให้มีข้อปิดทั้ง
2 ด้าน ทุบไม้ไผ่ให้แตกเล็กน้อย เจาะรู
เพื่อบรรจุหมื่อแล้วต่อชนวนเข้ารูแท่งหมื่อทำจากหมื่อถ่าน 3-4
อัดลงในไม้ไผ่ขนาดเล็กให้แน่น แล้วผ่าเอาแท่งหมื่อออกมาคล้ายข้าวหลาม
ให้ได้แท่งประมาณ 3 นิ้ว การจุดนั้นนิยมต่อพ่วงชนวนบั้งไฟใหญ่
เวลาจุดชนวนผ่าจะเกิดเสียงดังเหมือนเสียงช้างร้อง นิยมวางต่อกันเป็นช่วง ๆ กระบอก
ถ้าต้องการจะให้มีเสียงดังอย่างไรก็จะมีเทคนิคในการทำให้เกิดเสียงนั้น ๆ
4.
บั้งไฟแสน
บั้งไฟชนิดนี้เป็นบั้งไฟขนาดใหญ่ที่สุด
บรรจุดินปืนหนัก 120 กิโลกรัมขึ้นไป
บั้งไฟขนาดนี้ทำยากที่สุดจะต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ
เพราะบั้งไฟขนาดนี้หากแตกแล้วจะเป็นอันตรายมาก
เพราะฉะนั้นก่อนทำบั้งไฟจะต้องมีพิธีกรรมบวงสรวงให้ถูกต้องตามหลักการทำบั้งไฟแสนเสียก่อนจึงจะลงมือทำ
เมื่อตกบั้งไฟเสร็จเรียบร้อยแล้วจะมีการตกแต่งประดับประดาบั้งไฟ
5. บั้งไฟตะไล
บั้งไฟชนิดนี้ก็คือบั้งไฟจินายขนาดใหญ่นั่นเอง
มีความยาวประมาณ 9-12 นิ้ว รูปร่างกลมมีไม้บาง ๆ แบน ๆ เป็นวงกลมครอบหัวท้ายบั้งไฟเมื่อพุ่งขึ้นสู่ฟ้าไปโดยทางขวาง
6. บั้งไฟตื้อ
บั้งไฟตื้อหรือบั้งไฟกระแตนั่งตอ
เป็นบั้งไฟขนาดเล็กมีหางสั้น วิธีทำ ตัดกระบอกไม้ไผ่ขนาด 1 นิ้วครึ่งยาวประมาณ 3
นิ้ว อัดหมื่อให้แน่นประมาณ 2 นิ้ว ใช้หมื่อถ่านสามหรือถ่านสี่อัดด้วยเถียดไม้ให้แน่น
ต่อหางซึ่งทำจากไม้ไผ่ เหลาเป็นแท่งเล็กๆ ใช้เลื่อยตัดมุมข้อออกจนเห็นหมื่อ
เจาะให้เป็นรูเล็ก ๆ แล้วติดชนวน เวลาจะจุดเอาหางเสียบลงในแท่นที่ตั้งพอให้ตั้งได้
จุดชนวนจากด้านบน บั้งไฟจะพุ่งและหมุนขึ้นสู่อากาศ เกิดเสียงดังตือ ๆ
เวลาหมุนจะไม่ค่อยมีทิศทาง ใช้จุดในงานศพ เวลาจุดมีอันตรายมากไม่ค่อยนิยมทำกัน
7. บั้งไฟพลุ
บั้งไฟพลุ
เป็นบั้งไฟที่นิยมจุดในเทศกาลต่าง ๆ เช่น งานกฐิน งานบุญมหาชาติ หรือ งานเปิดกีฬา
ฯลฯ เป็นบั้งไฟที่จุดแล้วทำให้เกิดเสียงดัง ในอดีตนิยมจุดในงานกฐิน เพื่อเป็นการบอกข่าวไปยังพี่น้องประชาชนทั่วไปให้ทราบ
การทำบั้งไฟ
ในสมัยก่อนการทำบั้งไฟจะใช้ไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ที่สุด
ทะลวงปล้องให้ถึงกัน
ภายนอกจะใช้ตอกไม้ไผ่ถักเป็นเชือกมัดรอบลำไผ่ให้แน่นเพื่อไม่ให้ลำไผ่แตก
ส่วนหัวปล้องสุดท้ายจะถูกอุดด้วยแผ่นไม้หนาพอควร แล้วทำการอัดบรรจุหมื่อ (ดินปืน)
ให้แน่นด้วยการตำ หรือใช้คานดีดคานงัด
(ในปัจจุบันใช้แม่แรงยกล้อรถบรรทุกแทนสะดวกกว่ากันดังภาพซ้ายมือ)
ยุคสมัยเปลี่ยนไปจากลำไผ่กลายมาเป็นท่อเหล็กหรือท่อประปา
(ซึ่งอันตรายมากเมื่อมีการระเบิดใส่ผู้คนอย่างที่เป็นข่าว)
ตอนหลังหันมาใช้ท่อพีวีซีแทนซึ่งก็ยังเป็นอันตรายอยู่ดี
จากการบูชาแถนมาเป็นการพนันขันต่อเพื่อการเดิมพัน
จำนวนบั้งไฟที่จุดในแต่ละที่จึงมีจำนวนมาก
และสร้างความเสียหายต่อชุมชนในทิศที่บั้งไฟถูกจุดออกไป
(เพราะสามารถไปไกลได้หลายสิบกิโลเมตร)
ส่วนประกอบของบั้งไฟ
1. เลาบั้งไฟ
เลาบั้งไฟคือส่วนประกอบที่ทำหน้าที่บรรจุดินปืน มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกกลมยาว
มีความยาวประมาณ 1.5-7 เมตร ทำด้วยลำไม้ไผ่เเล้วใช้รั้วไม้ไผ่ (ตอก)
ปิดเป็นเกลียวเชือกพันรอบเลาบั้งไฟอีกครั้งหนึ่งให้แน่น และใช้ดินปืนที่ชาวบ้านเรียกว่า"หมื่อ"
อัดให้แน่นลงไปในเลาบั้งไฟ ด้วยวิธีใช้สากตำแล้วเจาะรูสายชนวน
เสร็จแล้วนำเลาบั้งไฟ ไปมัดเข้ากับส่วนหางบั้งไฟ
ในสมัยต่อมานิยมนำวัสดุอื่นมาใช้เป็นเลาบั้งไฟแทนไม้ไผ่ ได้แก่ ท่อเหล็ก
ท่อพลาสติก เป็นต้น เรียกว่าเลาเหล็กซึ่งสามารถอัดดินปืนได้แน่นและมีประสิทธิภาพในการยิงได้สูงกว่า
2. หางบั้งไฟ
หางบั้งไฟถือเป็นส่วนสำคัญทำหน้าที่คล้ายหางเสือ
ของเรือคือสร้างความสมดุลให้กับบั้งไฟคอยบังคับทิศทางบั้งไฟให้ยิงขึ้นไปในทิศทางตรงและสูง
บั้งไฟแบบเดิมนั้น ทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ต่อมาพัฒนาเป็นหางท่อนเหล็กและหางท่อนไม้ไผ่ติดกันหางท่อนเหล็กมีลักษณะเป็นท่อนกลม
ทรงกระบอกมีความยาวประมาณ 8-12 เมตร
ทำหน้าที่เป็นคานงัดยกลำตัวบั้งไฟชูโด่งชี้เอียงไปข้างหน้าทำมุมประมาณ 30-40
องศากับพื้นดิน โดยบั้งไฟจะยื่นไปข้างหน้ายาวประมาณ 7-8 เมตร ปลายหางด้านหนึ่งตั้งอยู่บนฐานที่ตั้งบั้งไฟ
3. ลูกบั้งไฟ
เป็นลำไม้ไผ่ที่นำมาประกอบเลาบั้งไฟโดยมัดรอบลำบั้งไฟ
บั้งไฟลำหนึ่งจะประกอบด้วยลูกบั้งไฟประมาณ 8-15 ลูก ขึ้นอยู่กับขนาดของบั้งไฟ
เดิมลูกบั้งไฟมีแปดลูกมีชื่อเรียกเรียงตามลำดับคู่ขนาดใหญ่ไปหาคู่ที่มีขนาดเล็กกว่าได้แก่
ลูกโอ้ ลูกกลาง ลูกนางและลูกก้อย ลูกบั้งไฟช่วยให้รูปทรงของบั้งไฟกลมเรียวสวยงาม
นอกจากนี้ลูกบั้งไฟยังเป็นพื้นผิวรองรับการเอ้หรือการตกแต่งลวดลายปะติดกระดาษ
ประเพณีบุญบั้งไฟ
ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร
จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานที่จัดงานบุญบั้งไฟจนกลายเป็นงานประเพณีระดับชาติคือ
จังหวัดยโสธร โดยได้จัดเทศกาลงานประเพณีบุญบั้งไฟ ณ สวนสาธารณะพญาแถน
ในช่วงอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมก่อนที่จะถึงฤดูลงมือทำนา
โดยงานนี้ได้รับความสนใจอย่างมากเนื่องจากบุญบั้งไฟของชาวยโสธรเป็นบุญบั้งไฟนานาชาติโดยมีบั้งไฟจากประเทศญี่ปุ่น
และประเทศเพื่อนบ้านมาร่วมงานทุกปี ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
และดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชมจำนวนมาก มีการประกวดแห่เซิ้งบั้งไฟ
บั้งไฟสวยงาม ประกวดกองเชียร์ การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ ฯลฯ ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่มีงานประเพณีดังกล่าวจังหวัดยโสธรในเวลาค่ำคืนจะไม่เงียบสงัดเหมือนทุกเดือนที่ผ่านมา
เพราะจะได้ยินแต่เสียงกลองตุ้ม ผ่าง ผสานเสียงกับการขับขานกลอนเซิ้ง
ที่บอกเล่าถึงตำนานบั้งไฟด้วยจังหวะแบบพื้นเมือง
ประเพณีบุญบั้งไฟเรียกได้ว่าเป็นประเพณีที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานทีเดียว
อ๊ะ ๆ ... แต่สำหรับผู้ที่จะไปร่วมงานบุญบั้งไฟก็ระมัดระวังอุบัติเหตุกันด้วยนะจ๊ะ